1117 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2567) เวลา 10.30 น. ณ บริเวณโถงกลางหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายมาร์ก กุดดิง (H.E Mr. Mark Gooding) ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นายดันแคน เบอร์เรจ (Mr. Duncan Burrage) เจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศ ประจำกรุงเทพมหานคร หน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ
แห่งสหราชอาณาจักร ((National Crime Agency (NCA)) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมด้วยนายณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย
ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนอัยการสูงสุด พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้า
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 78/2561 รวมทั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ
ร่วมสอบสวนได้ร่วมกันแถลงข่าวการส่งมอบรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย จำนวน 30 คัน เพื่อคืนแก่เจ้าของที่แท้จริงในประเทศอังกฤษ ผ่านการประสานความร่วมมือกับ National Crime Agency (NCA) และเร่งรัดติดตามรถยนต์อีก 5 คัน ที่ยังติดตามไม่พบส่งคืนเพิ่มเติม
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศอังกฤษ ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ทำการสืบสวนสอบสวน กรณีที่มีกลุ่มบุคคล ได้โจรกรรมรถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษและนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย โดยมีพฤติการณ์กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 - 2560 ได้มีกลุ่มผู้กระทำความผิด ซึ่งนำโดย นายอินทระศักดิ์ หรือ บอย ยูนิตี้ ร่วมกับคนไทยและคนต่างชาติ ได้ไปเช่าซื้อรถยนต์หรูจากบริษัทต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษ และมีการสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศอังกฤษว่าเป็นรถยนต์ใหม่ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อจะได้ส่งออกทางเครื่องบินจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มายังประเทศสิงคโปร์ และได้ส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ทางเรือเข้ามาในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง มีทั้งสิ้น 35 คัน จำนวน 13 ยี่ห้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นรถที่มีราคาแพง อาทิเช่น Porsche Lamborghini Range Rover ฯลฯ ซึ่งมีราคารวมในประเทศอังกฤษเกือบ 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือมากกว่า 100 ล้านบาทไทย ทางการของประเทศอังกฤษโดยหน่วยงาน National Crime Agency หรือ NCA ได้สืบทราบถึงขบวนการดังกล่าว จึงได้ประสานความร่วมมือมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวและติดตามรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมกลับคืนประเทศอังกฤษ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงรับเรื่องไว้ทำการสอบสวนเป็น
คดีพิเศษที่ 78/2561 และเนื่องจากการกระทำความผิดส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจึงมอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความอาญา มาตรา 20 และมอบหมายพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มาร่วมสอบสวน โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทางการสอบสวนพบว่ารถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมีการนำเข้ามาในประเทศไทยได้สำเร็จโดยกลุ่มผู้กระทำความผิดได้ใช้บริษัท 3 ราย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นผู้นำเข้า โดยนำเอกสารมาสำแดงและเสียภาษีต่อกรมศุลกากรเพื่อให้เป็นรถยนต์ที่ถูกต้อง สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ จากนั้นมีการ
ขายต่อไปให้ประชาชนทั่วไปในประเทศไทย
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เปิดปฏิบัติการโดยใช้ชื่อว่า “Titanium Operation หรือ ปฏิบัติการไททาเนียม” โดยมี NCA ร่วมสังเกตการณ์ ได้นำหมายค้นเข้าตรวจค้นจุดต้องสงสัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 9 จุด ซึ่งจากการตรวจค้นดังกล่าว ขยายผลนำไปสู่การตรวจยึดรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 30 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ยี่ห้อ BMW M4 จำนวน 5 คัน ยี่ห้อ Ford Mustang จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Honda GT Type-R จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Lamborghini Huracan Spyder จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Lexus จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Mercedes Benz จำนวน 8 คัน ยี่ห้อ Mini Cooper จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ Nissan GTR จำนวน 3 คัน ยี่ห้อ Porsche จำนวน 5 คัน ยี่ห้อ Land Rover จำนวน 2 คัน และ Volkswagen GTI จำนวน 2 คัน และยังอยู่ระหว่างการติดตามรถยนต์อีก 5 คัน ประกอบด้วย
1.ยี่ห้อ Audi รุ่นQ7 S Line สีเทา เลขตัวถัง WAUZZZ4M4HD026469
2.ยี่ห้อ BMW รุ่น M4 สีบรอนซ์ เลขตัวถัง WBS3R92030K344987
3.ยี่ห้อ Ferrari สีขาว เลขตัวถัง ZFF79AMC000219631
4. ยี่ห้อ Porsche รุ่นBoxster 718 สีเหลือง เลขตัวถัง WP0ZZZ98ZHS211836
5.ยี่ห้อ LAND ROVER รุ่นRange Rover Sport สัดำ เลขตัวถัง SALWA2EE8HA132932
ทางคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ดำเนินคดีกับนายอินทระศักดิ์ กับพวก รวม 13 คน ในความผิด 1. ฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันรับของโจรเพื่อค้ากำไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และมาตรา 357 วรรคสอง 2. ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้
เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง และมาตรา 268 3. ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงข้อกำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง 4. ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (1) (2) (3) (4) และ 5. ฐานอั้งยี่หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210 โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งคดีในชั้นสอบสวน
คืออัยการสูงสุดต่อมาหลังจากที่อัยการสูงสุดพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว ได้มีคำสั่งให้จัดการของกลางรถยนต์ทั้ง 30 คัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 ซึ่งคือการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงประชุมพิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อพนักงานอัยการไม่ได้ขอริบย่อมมีเหตุที่จะคืนรถยนต์ของกลางให้กับผู้เสียหายชาวอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องขอคืนรถยนต์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการประสานงานผ่าน NCA ในการคืนรถยนต์และจัดแถลงข่าวในวันนี้
ความสำเร็จในเรื่องนี้ เป็นการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย รวมถึง NCA ทั้งนี้
เพื่ออำนวยความยุติธรรมและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศที่แสดงถึงความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ครอบครองรถยนต์อีก 5 คัน ให้ตรวจสอบรถในความครอบครองของท่าน หากพบเป็นรถในบัญชีดังกล่าวข้างต้น ให้ติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ สายด่วน 1202 ทันที
ภาพเพิ่มเติม