คณะทำงานฯ จัดเวทีเสวนา แผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)

712 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คณะทำงานฯ จัดเวทีเสวนา แผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)

วันนี้ (2 ธันวาคม 2567) ณ ห้องประชุม 10-09 อาคารกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรี ยุทธนาแพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)” ขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำความผิดในตลาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีพฤติการณ์การตกแต่งบัญชีและใช้งบการเงินอันเป็นเท็จในลักษณะที่มุ่งหวังหลอกลวง
นักลงทุนผ่านการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นกู้ โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียหายรวมกว่า 4,700 ราย และมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 14,000 ล้านบาท
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรการป้องกันในเชิงรุกที่ครอบคลุมและทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้นรวมถึงเพื่อพัฒนามาตรการเยียวยาผู้เสียหายให้เหมาะสมกับบริบทและรูปแบบสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบังคับคดี สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมายและด้านตลาดทุน รวมถึงตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญเป็นคณะทำงาน และมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ (1) เพื่อเป็นกรณีศึกษา โดยมีกรณีศึกษาของบริษัท สตาร์คฯ เป็นศูนย์กลางของการถอดบทเรียน (2) เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานเพื่อป้องกันและปราบปรามคดีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม และ (3) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตลาดทุนและตลาดเงินในการสร้างระบบการกำกับดูแลตรวจสอบและแจ้งเตือนล่วงหน้า อันจะยังผลให้ตลาดทุนและตลาดเงินมีเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล
หลังจากคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมฯได้มีการประชุมร่วมกันทั้งสิ้น 7 ครั้ง เพื่อยกร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ปปง. รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการตรวจสอบบัญชี มาให้ข้อคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังมีการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนในทุกมิติ นำไปสู่การร่างเอกสารรายงานศึกษาการถอดบทเรียน ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ (1) ข้อเท็จจริงและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ บริษัท สตาร์คฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการ Backdoor Listing จนถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด (2) มาตรการป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่ควรมีเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน กรรมการอิสระ การจัดทำลักษณะ/พฤติการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด (red flag) และผู้ให้เบาะแส (whistle blower)      (3) มาตรการปราบปรามและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนและระยะเวลาในภาพรวมที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวน และ (4) มาตรการเยียวยา ซึ่งรวมถึงแนวทางในการติดตามเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อคืนให้กับผู้เสียหาย ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดในเรื่องการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ
การจัดงานเสวนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี/ประธานคณะทำงาน นายธวัชชัย  พิทยโสภณ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นผู้ร่วมเสวนา  โดยมีเนื้อหาประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ (1) การนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษา และ (2) การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ  โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออาจเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนามาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม และมาตรการเยียวยา กรณีการกระทำความผิดในตลาดทุน ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากงานเสวนาในครั้งนี้ ไปใช้ในการปรับปรุงร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและจะเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้