ศวอบ.เร่งสำรวจประชากรพะยูนและสุ่มสำรวจหญ้าทะเลบริเวณเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา

1209 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศวอบ.เร่งสำรวจประชากรพะยูนและสุ่มสำรวจหญ้าทะเลบริเวณเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา


วันที่ 30 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้ปฏิบัติการสำรวจสัตว์ทะเลหายากโดยใช้อากาศยานไร้คนขับชนิดปีกหมุนหลายใบพัด (Multirotor UAV) และสถานภาพหญ้าทะเล บริเวณพื้นที่อ่าวช่องหลาด เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำลงต่ำสุดในรอบวัน

การสำรวจพบสัตว์ทะเลหายาก 2 ชนิด ได้แก่ พะยูน ( Dugong dugon ) จำนวน 3 ตัว พบเป็นคู่แม่ลูกจำนวน 1 คู่ และว่ายเดี่ยว จำนวน 1 ตัว บริเวณสะพานท่าเทียบเรือช่องหลาด และเต่าตนุ (Chelonia mydas ) จำนวน 25 ตัว ครอบคลุมพื้นที่อ่าวช่องหลาด เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา

ผลการประเมินตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นพบว่าพะยูน แสดงพฤติกรรมการดำน้ำหาอาหาร ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ (BCS 3/5 ) อัตราการหายใจ 5-7 ครั้งใน 10 นาที ขนาดโตเต็มวัย ความยาวลำตัวประมาณ 2.5 เมตร และเต่าทะเลมีสุขภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งได้ทำการสุ่มสำรวจหญ้าทะเลด้วยวิธีการเดินสำรวจในพื้นที่เดิมที่เคยพบหญ้าทะเล ปรากฎว่าพบหญ้าทะเล ชนิดหญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) กระจายเป็นหย่อมทั่วทั้งอ่าว ลักษณะเป็นต้นอ่อน เพิ่งเเตกหน่อ สถานภาพหญ้าทะเลมีการปกคลุมปานกลาง และพบรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนในพื้นที่ จากการสอบถามชาวประมงในพื้นที่ ได้ให้ข้อมูลว่าในบริเวณนี้มีการพบพะยูนเข้ามาหากิน ช่วงน้ำขึ้นสูงสุด และพบเจอเต่าทะเลหลายตัวในพื้นที่อ่าวช่องหลาด
โดย ศวอบ. จะทำการติดตามสถานการณ์เพื่อดูการฟื้นตัวของหญ้าทะเลต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้