687 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ รัชดากรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ นักการทูต ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิไอเจเอ็ม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลม ในหัวข้อ “ความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งมีพันธกรณีเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการในลักษณะสแกมมิ่งในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทย” ซึ่งดำเนินการโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และมูลนิธิไอเจเอ็ม (IJM Foundation) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีการบังคับให้ผู้เสียหายก่ออาชญากรรม (Forced Criminality)
การประชุมโต๊ะกลมนี้ดำเนินการขึ้น ภายใต้นโยบายของพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยการกำกับดูแลของพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการ
ในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษผู้กำกับดูแลกองคดีการค้ามนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่เครือข่ายการค้ามนุษย์มักใช้ประโยชน์
จากความเปราะบางของผู้เสียหายเพื่อบังคับให้กระทำความผิด โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคม
และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และมูลนิธิไอเจเอ็ม เข้าร่วมประชุม พร้อมตัวแทน
จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม
แห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสำนักงานสนับสนุนระดับภูมิภาคของกระบวนการบาหลี (RSO of the Bali Process) ร่วมกับนักการทูตจาก 17 ประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมสำคัญประกอบด้วย H.E. Florence Buerki Akonor เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกานา H.E. Kiptiness Lindsay Kimwole เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยา
H.E. Rukhsana Afzaal เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน H.E. Abderrahim Rahhaly เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก H.E. E.A.S. Wijayanthi Edirisinghe เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และ H.E. Olan Viravan กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำสถานทูตสาธารณรัฐยูกันดา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐกานา สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐมาเลเซีย ราชอาณาจักรโมร็อกโก สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐ อุซเบกิสถาน
โอกาสดังกล่าว พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ เน้นย้ำแก่ที่ประชุม ถึงความจำเป็นในการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยกล่าวย้ำว่า “การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมที่ไร้พรมแดน และความพยายามของเราที่จะต่อสู้กับมันต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความร่วมมือเช่นนี้เราสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย” และนายแอนดรู วสุวงศ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ IJM ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้แนวทางที่มุ่งเน้นผู้เสียหายในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้กระทำอาชญากรรม โดยกล่าวว่า “ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มักถูกบังคับให้กระทำอาชญากรรม ซึ่งทำให้สถานการณ์ของพวกเขา ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นการหารือในวันนี้จะช่วยให้เราสามารถเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองและระบบเพื่อให้การสนับสนุนสำหรับบุคคลเหล่านี้”
การประชุมดำเนินการด้วยการอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้ก่ออาชญากรรม โดย Ryan Winch ผู้จัดการโครงการด้านอาชญากรรมข้ามชาติและเทคโนโลยี ประจำ RSO Bali Process ได้บรรยายภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค พร้อมด้วย Dr. Sylwia Gawronska ที่ปรึกษาโครงการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก UNODC ซึ่งได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป
ของการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้กระทำอาชญากรรม โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระหว่างการประชุมโต๊ะกลม ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือผู้เสียหายและการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง กลไกการส่งต่อระดับชาติ(NRM)และระหว่างประเทศรวมถึงการดำเนินคดีกับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ เป็นต้นและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ มูลนิธิไอเจเอ็ม สถานเอกอัครราชทูต
และองค์กรระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและสร้างแนวทางความร่วมมือในอนาคต
การประชุมยังได้หารือถึงความท้าทายในการดูแลผู้เสียหายหลังจากการส่งตัวกลับประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยา อัครราชทูตที่ปรึกษาจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูกันดา ซึ่งได้แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในการส่งตัวกลับประเทศให้แก่ที่ประชุมโดยการอภิปรายนี้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการฟื้นฟูสภาพให้กับผู้เสียหายที่กลับสู่ประเทศของตน และการสร้างความมั่นใจว่า ผู้เสียหายจะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
โดยที่ประชุมคาดหวังถึงการให้คำมั่นร่วมกันในการพัฒนาการประสานงานระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สถานทูต สถานกงสุลองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการบังคับให้กระทำอาชญากรรม ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือเพื่อล้มล้างเครือข่ายการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตลอดจนการปกป้องผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเห็นพ้องตรงกันว่า การดำเนินการที่มุ่งเน้นผู้เสียหายเป็นสิ่งสำคัญในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน นับตั้งแต่การดำเนินคดีจนถึงการฟื้นฟูหลังการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง