2755 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ (13 ธันวาคม 2566) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดพิธีร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันของ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยได้รับเกียรติจาก นายกิตติ เชาวน์ดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานและสักขีพยาน ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายกิตติ เชาวน์ดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอันมาก ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแต่ท่ามกลางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็เป็นจุดดึงดูดให้บุคคลที่ไม่ใช่คนไทย เข้ามาแอบแฝงประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือเรียกว่า นอมินี (NOMINEE) ซึ่งปัจจุบันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังพบการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีการแย่งชิงนักท่องเที่ยวระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง เกิดกับดักการตั้งราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องและไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงไว้กับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาพปัญหาต่างๆ ตามมา เนื่องจากผู้ประกอบการต้องหารายได้จากทางอื่นมาทดแทน เช่น ปัญหาการบังคับให้ซื้อสินค้าที่ระลึก หรือบังคับให้จำเป็นต้องซื้อรายการนำเที่ยวเสริม (Optional Tour) ที่ราคาสูงเกินจริง และปัญหาอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ด้าน นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวถึงขอบเขตความร่วมมือของกรมการท่องเที่ยวในครั้งนี้ว่า กรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง(NOMINEE) ใช้ชื่อย่อว่า “ศปต.” ซึ่งตั้งอยู่ที่กรมการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 2. ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3. ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 4. ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สำหรับแนวทางการตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เข้าข่ายมีนอมินี ในเบื้องต้นจะเน้นการตรวจสอบบริษัทที่มีความเสี่ยง เช่น มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าถือหุ้นไม่เกินสัดส่วนที่กำหนด 49.99% หรือไม่ ถ้าไม่เกินต้องดูต่อไปอีกว่ามีอำนาจการบริหารจัดการภายในบริษัท และมีสิทธิในการออกเสียงมากกว่าผู้ถือหุ้นคนไทยที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 51% หรือไม่ ถ้ามีมากกว่าก็อาจเข้าข่ายเป็นนอมินี
หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 0 2401 1111 และเว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว www.tourism.go.th