289 จำนวนผู้เข้าชม |
วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 ณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และ ดร. ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย คุณสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ คุณ Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่ได้มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการบรรยายให้ความรู้ โดย ดร.พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights) และ ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (UN Committee on Economic, Social, and Cultural Rights) รวมถึงการเสวนาโดยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรสำคัญที่ร่วมผลักดันการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ
การจัดงานฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการจัดทำและขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ซึ่งเป็นกรอบนโยบายระดับชาติที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ทั้งนี้ เนื่องจากแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 ได้หมดวาระลงในปี พ.ศ. 2565 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ขึ้น โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ จนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 อย่างเป็นรูปธรรม โดยการประกาศใช้แผนปฏิบัติการฯ เป็นการยืนยันนโยบายและความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
***Business and Human Rights ยกระดับเศรษฐกิจไทย ด้วยการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน***
//////////////////////////////////
*** 8 กันยายน 2566 *