DSI จับผู้ต้องหาคดีแชร์เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊กแอนด์เพลย์ ภาค 2 ส่งอัยการฟ้องศาล

341 จำนวนผู้เข้าชม  | 

DSI จับผู้ต้องหาคดีแชร์เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊กแอนด์เพลย์ ภาค 2 ส่งอัยการฟ้องศาล

ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษที่ 232/2560 กรณีกล่าวหาบริษัท เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊กแอนด์เพลย์ จำกัด โดยนายภูดิศ กิตติธราดิลก กับพวก รวม 27 คน ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งคดีดังกล่าวมีการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2562 โดยในส่วนของนายกรฤต จันทร์เด่นดวง ผู้ต้องหาที่ 26 ในคดีดังกล่าวได้หลบหนี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ขออนุมัติต่อศาลอาญาเพื่อออกหมายจับและประกาศสืบจับไว้ ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถจับกุมผู้ต้องดังกล่าวได้ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ จึงมอบหมายให้ นางสาวปริมณ์ สาริยา ผู้อำนวยการส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 2 และคณะ รับตัวผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ สอบสวนปากคำและฝากควบคุมตัวไว้ และในวันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) ได้นำตัวนายกรฤต จันทร์เด่นดวง ส่งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คดีนี้มีที่มาสืบเนื่องจากมีประชาชนผู้เสียหายจำนวนมากเข้าร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สอบสวนดำเนินคดีอาญา กรณีบริษัท เดอะ ซิสเต็ม ปลั๊กแอนด์เพลย์ จำกัด และบริษัท อินโนวิชั่น โฮลดิ้ง จำกัด รวมทั้งผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทุจริตร่วมกันหลอกลวงโดยประกาศโฆษณาในเว็บไซต์ www.thesystemplugandplay.net ของบริษัทฯ และช่องทางต่าง ๆ ทำให้ต่อประชาชนทั่วไป โดยผู้ต้องหากับพวกได้ชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนกับบริษัทฯ เพื่อดำเนินธุรกิจเสริมความงาม ธุรกิจเต็นท์รถ ธุรกิจส่งออกแอฟริกา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การลงทุนมี 2 แพ็กเกจ ให้เลือกลงทุน ได้แก่ แพ็กเกจ A ลงทุน 36,000 บาท รับโบนัส 7,800 บาท แพ็คเกจ B ลงทุน 18,000 บาท รับโบนัส 3,900 บาท เมื่อครบ 30 วัน จึงจะได้รับผลตอบแทนการจ่ายผลตอบแทนของแพ็กเกจ A จ่ายในวันที่ 5,10,15,20,25 และสิ้นเดือนครั้งละ 7,800 บาท ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนเป็นแพ็กเกจวีไอพี ลงทุน 108,000 บาท แพ็กเกจพรีเมี่ยม ลงทุน 36,000 บาท แพ็กเกจสแตนดาร์ด ลงทุน 18,000 บาท แพ็กเกจมินิ ลงทุน 9,000 บาท แพ็กเกจไมโคร ลงทุน 4,500 บาท กำหนดจ่ายผลตอบแทนให้เมื่อลงทุนไปแล้ว 1 เดือน โดยจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 7 ของเงินลงทุน สัปดาห์ละครั้ง เป็นระยะเวลา 52 สัปดาห์ (1 ปี) ซึ่งคำนวณเป็นดอกเบี้ยสูงสุดถึงประมาณ ร้อยละ 365 ต่อปี โดยที่ไม่ปรากฏหลักฐานการประกอบธุรกิจที่จะสร้างรายได้นำมาจ่ายผลตอบแทนตามอัตราดังกล่าวได้ ความจริงแล้วกลุ่มผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ


โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้แต่มีเจตนาหลอกลวงประชาชนหวังจะได้รับเงินตอบแทนในอัตราสูงให้นำเงินมาลงทุนกับตนแล้วจะนำเงินที่ได้จากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นมาจ่ายเป็นผลประโยชน์หมุนเวียนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายก่อน เมื่อไม่มีผู้ลงทุนเพิ่มประชาชนจำนวนมากก็ไม่สามารถได้รับผลตอบแทนและเงินร่วมลงทุนกลับคืน และโดยการหลอกลวงดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 112/2560และศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาแล้ว แต่ปรากฏว่า

ยังมีผู้เสียหายอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร้องทุกข์เป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงทำการสอบสวนเป็นคดีที่ 232/2560 ในเรื่องนี้ เป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีพิเศษที่ 112/2560 โดยคดีนี้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวน 251 คน รวมมูลค่าความเสียหายจำนวน 76,532,753.79 บาท

“กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ขอแจ้งเตือนไปยังสาธารณชนว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ โดยเสนอผลตอบแทนสูงจำนวนมาก และมักใช้รูปแบบการลงทุนที่
กล่าวอ้างถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ AI Artificial Intelligence หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการตัดสินใจลงทุน มีการรับประกันเงินลงทุนร้อยละร้อย เป็นการลงทุนที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกับต่างประเทศ มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้แทนเงินตราจริงในการลงทุนเพื่อให้ดูว่าเป็นเรื่องทันสมัย ขณะเดียวกันก็ทำให้ยากแก่การ
ทำความเข้าใจของผู้เสียหายทั่วไป และเกิดกลุ่มผู้กระทำผิดรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่นายหน้าแปลงเงินตราจริงเป็นเงินดิจิทัล ทำให้การกระทำผิดมีความซับซ้อนขึ้น รวมทั้งมีการชักชวนให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ หรือ FOREX ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินธุรกิจดังกล่าว และการดำเนินธุรกิจโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จะเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งสามารถตรวจสอบการอนุญาตเรื่องดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนในการประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุน กรมสอบสวน
คดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้จัดทำระบบ LINE Offical เพื่อตอบคำถามข้อสงสัยในการลงทุน ชื่อ “Checkdidsi” โดยสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกได้ที่ LINE > เพิ่มเพื่อน > ค้นหา > @Checkdidsi หรือไปยังเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th > ข้อมูลกราฟฟิก ซึ่งจะมีแหล่งให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
ที่เป็นภัยสังคม โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มีความมุ่งมั่นในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินนอกระบบอย่างมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ และใส่ใจให้บริการ” พันตำรวจตรีวรณัน กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้