1391 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 1 เมษายน 2567 นี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นางเบตตี้ โอเยลลา บิกอมบ์ (BETTY OYELLA BIGOMBE) เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐยูกันดา ประจำประเทศไทย และคณะ ณ ห้องรับรองสำนักงานรัฐมนตรี อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม โดยมี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และนางสาวอทิตยา ทองบุญ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมหารือ
การหารือดังกล่าว สืบเนื่องด้วยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูกันดา ประจำเทศไทยซึ่งมี ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีหนังสือขอความร่วมมือจากกระทรวงยุติธรรมตามหลักมนุษยธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือพลเมืองยูกันดา จำนวนกว่า 30 คน ที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือควบคุมตัวโดยไม่สมัครใจและถูกบังคับใช้แรงงาน โดยให้ทำงานเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ในบริเวณภูเขาของรัฐฉานสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 กระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานงานเพื่อช่วยเหลือผ่านเครือข่ายภาคประชาชน DSI ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาการศึกษาไร้พรหมแดน บก.ควบคุม ฉก.ราชมนู ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรพบพระจนสามารถช่วยเหลือพลเมืองยูกันดาจำนวน 23 คน ซึ่งแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศเพื่อผ่านทางประเทศไทยได้ที่บริเวณตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
จากกรณีดังกล่าว เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูกันดา ประจำเทศไทย ได้กล่าวแสดงความขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวยูกันดา ตลอดจนตระหนักถึงความจำเป็นในการมีมาตรการป้องกันกับแรงงานชาวยูกันดาที่ถูกล่อลวงไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านต่อไปในอนาคต
ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวว่ายินดีให้ความร่วมมือกับสาธารณรัฐยูกันดาเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบเพื่อไปให้ถึงต้นตอผู้กระทำผิดและได้มอบหมายให้กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและหลักมนุษยธรรมต่อไป