1320 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2567) ณ ศูนย์พัฒนาพฤตินิสัยปัตตานี กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาตรวจเยี่ยม และติดตามการพัฒนาศักยภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการ DRIP MODEL “ค่ายสานพลังใจ” โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว 60 วัน พร้อมพบปะพูดคุยให้กำลังใจแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยมีนายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติเขต 9 ให้การต้อนรับ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่ามีความสำคัญ การจะพัฒนาคนต้องพัฒนาตามศักยภาพ ภาษากายที่ทุกคนแสดงออกมาบ่งบอกถึงความจริงใจและบ่งบอกถึงพลัง โครงการนี้เกิดขึ้นจากคนที่หวังดี ไม่หวังผลตอบแทน แต่มีความหวังเพียงอย่างเดียว คือ ขอให้พวกเราผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีชีวิตที่ดี โดยชีวิตที่ดีนั้น ประกอบด้วย 1) พวกเราออกไปต้องมีอาหารกินและต้องไม่ยากจน 2) ต้องมีอาชีพที่ดีสุจริต 3) มีสุขภาพอนามัยที่ดี โดยข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้พวกเราขณะนี้เหมือนได้รักษาสุขภาพจากการก้าวพลาดไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องขอให้คิดเสมอว่ายาเสพติดเป็นอันตราย พวกเราทุกคนต้องใจแข็ง และ 4) ต้องมีโอกาส โดยในวันนี้ทุกคนทั้ง 104 คน มีโอกาสจากการได้รับการศึกษาและเข้าร่วมโครงการฯ นี้ ผู้จัดโครงการฯ พยายามหาโอกาสให้กับทุกคน และสิ่งหนึ่งที่เป็นโอกาสที่สำคัญ คือ โอกาสกับตัวเราและครอบครัว ครอบครัวจะได้รับสิ่งที่ครอบครัวฝันกลับคืนสู่ครอบครัว พร้อมทั้งขอให้กำลังใจ และขอขอบคุณโครงการที่ดี มีคุณค่า และได้ให้ความสำคัญแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด และขอฝากกับทุกคนว่า เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม โดยการนำประสบการณ์ที่ได้รับ ได้เจอ มาบอกเล่า และมาให้คำแนะนำกับรุ่นน้อง ท้ายสุดนี้ ขอให้ทุกคนคิดว่า ในเวลาที่เราถูกตราหน้าว่าถูกคุมประพฤติหรือคนราชทัณฑ์ที่เป็นดินแดนของคนต้องห้ามนั้น พวกเราต้องเปลี่ยนความคิดว่าเป็นดินแดนของการสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ และขอให้สันติสุขบังเกิดแก่ทุกคน"
ทั้งนี้ ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว 60 วัน มุ่งเน้นพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 6 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาความคิด 2) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3) ควบคุมและจัดการอารมณ์ 4) การพัฒนาจิตวิญญาณ 5) การพัฒนาอาชีพและการศึกษา และ 6) การพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจในการเลิกยาเสพติด การใช้กระบวนการกลุ่ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมครั้งนี้ จำนวน 104 คน
กระทรวงยุติธรรม ภายใต้การดำเนินงานของกรมคุมประพฤติ มีกระบวนการติดตามผล โดยมีการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือสงเคราะห์ตามสภาพปัญหาแต่ละราย และมีกระบวนการ เฝ้าระวัง โดย พนักงานคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติ ครอบครัว และชุมชน โดยออกเยี่ยมเยียนสอดส่อง พูดคุย ติดตามผ่านผู้นำชุมชน ในระยะเวลา 3 เดือนหลังออกจากค่าย ติดตามทุก 5 วัน จากนั้นติดตามจนพ้นคุมความประพฤติเดือนละ 1 ครั้ง และติดตาม 1 ปี หลังพ้นคุมความประพฤติ จำนวน 7 ครั้ง
โครงการดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถปรับตัวเข้าสู่ครอบครัว โดยมีอาสาสมัครคุมประพฤติที่ต้องดูแลมาร่วมสร้างพลังใจในกิจกรรมกลุ่มครอบครัวด้วย และมีอาชีพผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้มีงานทำ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และนำไปสู่การเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ทั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเรื่องยาเสพติด ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำขอให้ ทุกภาคส่วน เอาจริงเอาจัง ในการช่วยเหลือลูกหลาน ให้พ้นจากยาเสพติดให้ได้ โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด การจัดการยาเสพติด ต้องเริ่มที่แหล่งต้นตอ ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การจับกุมยึดทรัพย์เครือข่ายกลุ่มนักค้า การจัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาด้านจิตเวชจากยาเสพติด และการจัดการแหล่ง แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/ชุมชน การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดรักษา และการป้องกันในกลุ่มต่าง ๆ ทุกระดับ