ใช้เรือสำราญขนาดใหญ่จำลองเหตุการณ์ ฝึกการส่งกลับสายแพทย์หวังนักท่องเที่ยวอุ่นใจ

474 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ใช้เรือสำราญขนาดใหญ่จำลองเหตุการณ์ ฝึกการส่งกลับสายแพทย์หวังนักท่องเที่ยวอุ่นใจ


วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. รอง ผอ.ศรชล. เยี่ยมชมการฝึกการส่งกลับสายแพทย์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ Medivac Exercise กับเรือ Spectrum of the seas ตามที่ พล.ร.ท.อาภากร อยู่คงแก้ว ผอ.ศรชล.ภาค 3 สั่งการให้ ศรชล.ภาค 3 จัดการฝึกให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า การส่งกลับสายแพทย์ (Medivac Exercise) ด้วยเฮลิคอปเตอร์กับเรือสำราญ Spectrum of the seas เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับ IMO และผู้ประกอบการเรือสำราญขนาดใหญ่ ตลอดจนนักท่องเที่ยว


สืบเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) โดยยื่นตราสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (Convention on International Maritime Organization: IMO) ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2516 (1973) โดยกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานแห่งชาติในการประสานงานกับ IMO และกรมเจ้าท่าทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า และรัฐชายฝั่งตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศของ IMO ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระหว่างวันที่ 20 – 27 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ถึงวาระที่ IMO ได้เข้ามาตรวจประเมินประเทศไทย ถือว่าเป็นการตรวจภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme: IMSAS) ซึ่งมีผลการตรวจสอบ พบว่าหน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือของไทยยังไม่มีระบบในการเข้าถึงแผนการค้นหาและช่วยเหลือของเรือโดยสารต่างชาติที่เข้า – ออกประเทศเป็นประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือเรือในกรณีฉุกเฉิน
ศรชล.ภาค 3 จึงได้กำหนดให้จัดการฝึกให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับสายแพทย์ (Medivac Exercise) ด้วยเฮลิคอปเตอร์ กับเรือสำราญขนาดใหญ่ Spectrum of the seas ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการฝึกลักษณะบูรณาการร่วมกับหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) กระทรวงคมนาคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) สมาคมผู้ประกอบการเรือสำราญ หัวข้อการฝึก ประกอบด้วย การแจ้งเหตุของเรือสำราญ การประสานการปฏิบัติของ ศรชล. และ สพฉ. ในการให้ความช่วยเหลือ การติดต่อสื่อสารระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับเรือสำราญในการรับตัวผู้ป่วย และการส่งตัวผู้ป่วยให้กับ สพฉ. ต่อไป ซึ่งการฝึกนี้จะทำให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจเรือสำราญและนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ และตอบโจทย์ข้อบกพร่องที่ IMO ได้ประเมินไว้

สำหรับเหตุผลที่เลือกฝึกกับเรือ Spectrum of the seas เนื่องจากเป็นเรือสำราญต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยอยู่เป็นประจำ ซึ่งเริ่มเข้ามาตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2565 และเข้ามาเป็นประจำทุกๆ วันเสาร์ นับว่าเป็นเรือที่เข้าออกประเทศไทยบ่อยครั้งที่สุดในเวลานี้


โดยเรือสำราญ "Spectrum of the seas" มีขนาด ระวางขับน้ำ 169,379 ตัน ความยาว 347 เมตร ความกว้าง 49.24 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 4,905 คน(ไม่รวมลูกเรือ) มีห้องพักมากถึง 2,100 ห้อง มีความเร็วในการเดินทาง 22 น็อต (ไมล์ต่อชั่วโมง) นับเป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ ชั้นควอนตัม อุลตรา ลำแรกที่แล่นผ่านเข้ามาท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน และทิ้งสมอจุดหมายปลายทางที่อ่าวป่าตอง (ช่วงหลังๆ จะมาจอดทิ้งสมอที่อ่าวมะขาม) จังหวัดภูเก็ต เป็นเรือสัญชาติอเมริกัน ภายใต้บริษัท รอยัล คาริเบียน อินเทอร์เนชั่นแนล (Royal Caribbean International) สร้างขึ้นโดยอู่ต่อเรือเมเยอร์ เวิร์ฟ ในประเทศเยอรมนี)

ในส่วนของ เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการฝึกครั้งนี้เป็นแบบ ฮ.S-76B สังกัด มวบ.กปก.ทรภ.3 มีที่ตั้งหน่วยอยู่ติดกับสนามบินภูเก็ต ซึ่งในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมานี้ ฮ.ลำนี้ ได้ปฏิบัติงานจริง ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (Medivac Rescue) ร่วมกับ สพฉ. ถึง 6 ครั้ง

โดยการฝึกครั้งนี้ เป็นการฝึกครั้งแรกกับเรือสำราญขนาดใหญ่ แต่ในส่วนการฝึกระดับจังหวัดนั้น ศรชล.ภาค 3 ได้มีการฝึกร่วมกับ ปภ.จังหวัด และ สพฉ. ทั้ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามันเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก็ทำการฝึกครบทุกจังหวัดแล้ว

สำหรับขีดความสามารถในการส่งกลับสายแพทย์ ของ ศรชล.ภาค 3 มีความพร้อมในการปฏิบัติการส่งกลับสายแพทย์ทั้งเทางรือ และ ทางอากาศยาน ที่สามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา มีบุคลากรที่มีความพร้อม ความชำนาญ นอกจากนี้แล้ว ศรชล.ภาค 3 ยังได้สร้าง กรอบความร่วมมือระหว่าง สพฉ. ( MOU ) แล้ว ซึ่งสิ่งนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติของ การส่งกลับสายแพทย์เป็นอย่างดี

พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. รอง ผอ.ศรชล. เปิดเผย หลังจากเยี่ยมชมการฝึกการส่งกลับสายแพทย์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ Medivac Exercise กับเรือ Spectrum of the seas ว่า "ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ ศรชล. เป็นหน่วยบูรณาการในการปฏิบัติของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของประเทศไทย ที่กลับมาให้บริการอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น จนถึงปัจจุบันพบว่า มีเรือสำราญเข้ามาในประเทศ ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย จำนวน 83 เที่ยว นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศกว่า 310,000 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้มากกว่า 1,800 ล้านบาท โดย ศรชล. ได้บันทึกข้อมูลนักท่องเที่ยวลงในระบบ Big Data เพื่อประโยชน์ในการดูแล ความปลอดภัย และการช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยในห้วงที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า ศรชล.ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลหลายครั้ง และถือได้ว่าเป็นผลงานเชิงประจักษ์ต่อพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในทะเลได้อย่างทันท่วงที ในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้ตรวจประเมิน ประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme, IMSAS) ได้เดินทางมาตรวจและรายงานผลการตรวจประเมินฯ โดยชื่นชมประเทศไทยที่มีระบบการปฏิบัติงานด้านการขนส่งทางน้ำที่โดดเด่น มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มีสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไข (Findings) คือ ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยที่ทำการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล สำหรับเหตุการณ์บนเรือโดยสารขนาดใหญ่ รวมทั้งยังไม่มีการจัดทำแผนความร่วมมือ (SAR Cooperation Plan) และการฝึกซ้อมกับเรือโดยสาร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ซึ่งคณะอนุกรรมการการจัดทำและขับเคลื่อนกลยุทธ์ เพื่อดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศของ IMO ได้กำหนดให้ ศรชล. และ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านการค้นหาและช่วยเหลือเรือโดยสาร โดยปัจจุบัน ศรชล. ได้จัดทำแผนฯดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการฝึก Medivac ในวันนี้ จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อให้แผนฯ ดังกล่าว มีความครบถ้วนสมบรูณ์ ซึ่งผม และ ศรชล.ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง บริษัท รอยัล คาริเบียน อินเทอร์เนชันแนล (Royal Caribbean International) และเรือ Spectrum of the Seas ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้การฝึกครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลการฝึกฯ ในวันนี้ นอกจากจะได้รวมรวมและเสนอไปยังคณะผู้ตรวจประเมินฯ เพื่อให้ทราบถึงการปรับปรุงแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจต่อการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้